การพูดโน้มน้าวใจ และตัวอย่างการพูดโน้มน้าวใจ
ผู้ที่เป็นผู้นำหรือผู้ที่กำลังจะเป็นผู้นำนั้น ย่อมมีคุณสมบัติ ความรู้ และวุฒิภาวะอย่างเหมาะสมกับตำแหน่งที่ได้รับ ซึ่งการพูดโน้มน้าวใจก็เป็นอีกศาสตร์หนึ่ง ที่คนเป็นผู้นำควรจะรับรู้และศึกษาเอาไว้ เพราะเมื่อเราอยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก ย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
การพูดโน้มน้าวใจจะช่วยให้คุณได้สื่อสารและควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรามาดูวิธีการพูดโน้มน้าวใจและตัวอย่างการพูดโน้มน้าวใจที่ถูกต้องและได้ผลกันดีกว่าค่ะ
การพูดโน้มน้าวใจนั้น เป็นศาสตร์และศิลป์ทางจิตวิทยา ที่สามารถเปลี่ยนความเชื่อและทัศนคติของผู้ฟัง ให้เกิดการคล้อยตาม คิดตาม และปฏิบัติตามในที่สุด อาจจะมากจนถึงขึ้นฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกเลยก็ได้ เช่น การพูดโน้มน้าวใจให้พนักงานรักษาความสะอาดของสถานที่ทำงานให้ด๊ที่สุด การพูดโน้มน้าวใจให้เด็กนักเรียนติดนิสัยการทิ้งขยะลงถัง เป็นต้น ซึ่งจิตสำนึกเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดี และได้รับปารปลูกฝังมาเป็นอย่างดีจากผู้บังคับบัญชา หรือผู้อบรมสั่งสอนนั่นเอง
เทคนิคการพูดโน้มน้าวใจอย่างได้ผล
พูดให้ผู้ฟังเห็นภาพและมีเหตุผลที่หนักแน่น
การที่คนเราจะเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น จะต้องมีความสมเหตุสมผล เมื่อผู้ฟังได้ชั่งใจและติดสินใจแล้ว ก็จะเกิดเป็นคววามเชื่อขึ้นมา ดังนั้นผู้ที่เป็นฝ่ายพูดโน้มน้าวจิตใจนั้น ต้องหาเหตุผลมาประกอบให้หนักแน่นที่สุด เพื่อจะให้เกิดการคล้อยตามและความเชื่อขึ้นมาในคนหมู่มากได้
มีการกำหนดจุดมุ่งหมายในการพูดอย่างชัดเจน
ผู้พูดจะต้องมีจุดมุ่งหมายของตัวเองอย่างชัดเจน ว่าเมื่อคุณพูดไปแล้ว จะเกิดผลหรือเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อผู้ฟังบ้าง เพื่อให้บรรลุผลตามที่ผู้พูดต้องการ ไม่ควรพูดแบบน้ำท่วมทุ่ง จับใจความไม่ได้ เพราะเมื่อจุดมุ่งหมายออกทะเลไปไกล จะทำให้ผู้ฟังเกิดความเบื่อขึ้นมาได้ ดังนั้นควรพูดอย่างมีเนื้อหาสาระที่เป็นจุดประสงค์ของเรา
กระตุ้นให้เกิดอารมณ์และความคิดเห็นที่คล้อยตามกันไป
การที่คนหมู่มากมีความคิด เหตุผลในการตัดสินใจ และมีอารมณ์ร่วมกัน ก็จะทำให้เกิดพฤติกรรมในทางปฏิบัติร่วมกัน เมื่อความคิดของคนหมู่มากได้เกิดขึ้นมาแล้ว จะส่งผลให้คนกลุ่มที่ยังลังเล หรือมีความเพิกเฉย ได้คล้อยตามไปกับหมู่คณะ ซึ่งการกระตุ้นเพื่อทำให้เกิดอารมณ์ร่วมกันนี้ อาจใช้ปัจจัยหลายอย่าง และเห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น การที่เราจะให้เด็กนักเรียนรักษาความสะอาดของโรงเรียน ก็ต้องแบ่งกลุ่มให้เด็กทำความสะอาดตามจุดต่างๆ และมีของรางวัลสำหรับกลุ่มที่รักษาความสะอาดได้ดีที่สุด และของรางวัลก็จะต้องมีการแบ่งเฉลี่ยให้ได้รับเท่ากันทุกคน เด็กๆ ก็จะเกิดนิสัยรักษาความสะอาดฝังลึกเข้าไปในจิตใต้สำนึก และยังกระตุ้นให้เพื่อนรอบข้างได้ปฏิบัติตามอีกด้วยนะ
ผู้พูดต้องจัดลำดับเนื้อหาในการพูดให้ดี
ในการพูดโน้มน้าวใจนั้น จะต้องมีประโยคที่เกิด Action หรือดึงดูดความสนใจจากผู้ฟังได้ และประโยคเหล่านั้นก็จะต้องสอดคล้องกับเนื้อหาที่เราจะพูดด้วย ตัวอย่างเช่น “ท่านผู้มีเกียรติครับ หนทางไกลหมื่นลี้ ย่อมต้องเริ่มที่ก้าวแรกเสมอ แล้ววันนี้ถ้าเราจะคิดเริ่มต้นสิ่งใด คุณยังจะลังเลอีกหรือ ? ในเมื่อโอกาสมันได้มาอยู่ตรงหน้าคุณแล้วตรงนี้ ” นี่คือการเกริ่นให้เกิดความสนใจขึ้นมาได้ และต่อไปก็คือเนื้อหาสาระที่ต้องการจะพูดสื่อสารออกไป ควรจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้ฟัง เพราะจะทำให้เกิดการมโนภาพขึ้นมาได้ง่ายขึ้น และเมื่อเรื่องเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตประจำวันของคนหมู่มาก ย่อมเกิดการคิดตามและความเชื่อมั่นในระดับหมู่ขึ้นมาอย่างแน่นอน หากพูดเนื้อหาตามจุดประสงค์ของเราแล้ว ตอนบทสรุปถ้าเป็นไปได้ให้ทิ้งประโยคหรือข้อคิดคำคม ที่ผู้ฟังสามารถนำกลับไปคิดต่อได้ จะเป็นผลดีมากๆ เลยค่ะ
บุคลิกและความคล่องแคล่วในการพูด
ผู้พูดโน้มน้าวใจจะต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะพูดอย่างลึกซึ้ง เพื่อสามารถตอบปัญหาคาใจให้กับผู้ฟังได้อย่างคล่องแคล่ว ดูแล้วมีความเป็นมืออาชีพ สามารถเชื่อถือได้ เท่านี้ก็จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฟังของเราได้แล้วหล่ะค่ะ
อย่าพูดถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่ามากหรือน้อยก็ตาม
ในกรณีนี้ เราไม่ได้หมายถึงการโกหกหลอกลวงผู้ฟังนะค่ะ แต่เป็นการหลีกเลี่ยงคำพูดหรือเนื้อหาที่จะทำให้ผู้ฟังเกิดความคิดในเชิงลบ เพราะคุณจะไม่สามารถโน้มน้าวจิตใจผู้ฟังได้เลย ควรพูดสิ่งที่ดีให้มาก เพื่อสร้างความคิดในมุมบวกให้เกิดขึ้นกับผู้ฟังนั่นเอง
พูดถึงผลประโยชน์ที่ผู้ฟังจะได้รับ
เป็นธรรมดาที่คนเรามักจะรักในผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ ดังนั้นการพูดอย่างหนักแน่น มีเหตุมีผลแล้ว หากผลที่ผู้รับจะได้นั้นมีความเป็นรูปธรรม หรือสิ่งของที่จับต้องได้ด้วยแล้ว จะทำให้เกิดการโน้มน้าวใจได้ง่าย และอาจเกิดการบอกต่อได้อีกด้วย เช่น “หากคุณผู้ฟังซื้อเครื่องปริ้นเตอร์ยี่ห้อนี้ คุณจะได้รับของแถมเป็นกระดาษ 1 กล่อง และเติมหมึกให้ฟรี 1 ชุด เท่ากับว่าเมื่อคุณรับปริ้นงานจนหมึกและกระดาษหมด รายได้จะมากกว่าราคาซื้อเครื่องปริ้นเสียอีก เท่ากับว่าคุณได้เครื่องปริ้นไปฟรีๆ ” เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้ ผู้พูดจะเป็นผู้ขายหมึกและกระดาษให้กับเจ้าของเครื่องปริ้น เป็นการวางตลาดระยะยาวนั่นเอง
สร้างบรรยากาศในการพูดให้ผ่อนคลายบ้าง
การที่เราจะพูดแต่เนื้อๆ เน้นๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป จะทำให้ผู้ฟังเกิดอาการเบื่อ ความสนใจจะลดลง สุดท้ายทั้งผู้พูดและผู้ฟังจะไม่ได้อะไรเลย เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้นระหว่างที่พูดก็ควรจะแทรกอารมณ์ขันเข้าไปกับเนื้อหาที่พูดด้วย ผู้ฟังจะได้หัวเราะ ผ่อนคลาย และเกิดความเป็นกันเองมากขึ้น ไม่ต้องอยู่ภายใต้ภาวะกดดัน เหมือนโดนบังคับให้มาฟัง
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือวิธีการพูดโน้มน้าวใจคน เพื่อให้ผู้ที่สนใจหรือต้องการศึกษาเรียนรู้ ได้ลองนำไปปฏิบัติ และปรับปรุงการพูดโน้มน้าวใจของคุณให้ดีขึ้น จะได้เป็นบุคลากรที่สามารถดึงดูดลูกค้าเข้ามาสู่องค์กรได้มากๆ ยังไงหล่ะ สำหรับบทความเกี่ยวกับการพูดโน้มน้าวใจคน